คิดอย่างสร้างสรรค์แบบคิดในกรอบ — (Systematic Inventive Thinking: SIT)

Suthasinee Lieopairoj
Siam Chamnankit Family
6 min readNov 15, 2021

--

ทักษะการคิดนวัตกรรมจากสิ่งที่มี (ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน)

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แนนมีโอกาสได้ฟังบรรยายจากพี่ตี๋ ธีรศักดิ์ วงศ์ปิยะ จากบริษัท BOLD Group Thailand เกี่ยวกับหัวข้อนี้ค่ะ พอฟังจบคิดว่าหัวข้อนี้น่าสนใจมาก เลยไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและมาบันทึกไว้ เผื่อช่วยจุดประกายสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการแก้ปัญหาโดยการใช้นวัตกรรม หรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ค่ะ :)

บทความนี้ค่อนข้างยาวนิดนึงนะคะ สำหรับใครที่ไม่ได้อยากจะลงรายละเอียดของแต่ละเทคนิค สามารถข้ามส่วนของขั้นตอนแต่ละเทคนิคไปได้นะคะ :)

Systematic Innovation Thinking (SIT) เป็นวิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์โดยใช้ “แนวการคิดแบบอยู่ในกรอบ (Inside-the-box approach)” SIT เกิดขึ้นจากแนวความคิดที่ว่าผู้คนส่วนใหญ่มักมองหาประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่มากกว่าการหาสิ่งที่ตัวเองต้องมีเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ต้องการ อย่างเช่น การพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากสินค้าที่มีอยู่ในมือ แล้วจึงเริ่มคิดว่าจะพัฒนาให้สินค้านั้นดีขึ้นได้อย่างไร

ในขณะที่หลายคนคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของพรสวรรค์ที่อาจติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สำหรับ SIT ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เป็นทักษะที่มีหลักการที่สามารถทำความเข้าใจ, ฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ และยังสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้

Systematic Innovation Thinking (SIT) vs. Design Thinking

SIT เป็นวิธีการคิดที่เกิดขึ้นหลัง Design Thinking โดยศาสตร์ของ Design thinking ถือกำเนิดขึ้นมาประมาณต้นปี ค.ศ.1930s ในขณะที่ SIT เกิดขึ้นประมาณปลายศตวรรษที่ 20 โดยมีกระบวนการคิดที่กลับด้านกันเลย ใน Design thinking จะเริ่มจากการค้นหาปัญหาเพื่อนำไปสู่วิธีการแก้ไขหรือทางออกที่เป็นไปได้ แต่สำหรับ SIT จะเป็นการคิดโดยเริ่มต้นจากการจินตนาการถึงทางออกก่อน แล้วจึงค่อยย้อนคิดไปถึงปัญหา

อีกมุมที่กลับด้านกันคือ Design thinking เป็นแนวคิดที่ชวนให้มีความคิดสร้างสรรค์จากการ​คิดนอกกรอบ (Think outside-the-box) โดยตลอดกระบวนการคิดจะมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่ SIT เป็นวิธีคิดที่ชวนให้คิดอยู่ภายในกรอบ (Think inside-the-box) เพราะเชื่อว่าการคิดนอกกรอบอาจทำให้เราหลงทางหรือได้ไอเดียใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหา ทำให้ความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นจับต้องไม่ได้หรือนำไปใช้ในงานจริงไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อเราจดจ่ออยู่กับแง่มุมของสถานการณ์หรือปัญหานั้น ๆ และจำกัดทางเลือกของตัวเอง จะมีโอกาสที่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดได้มากที่สุด

ประวัติของ SIT

SIT พัฒนามาจากวิธีปฏิบัติทางด้านวิศวกรรมที่เรียกว่า “TRIZ” ของวิศวกรชาวรัสเซีย Genrich Altshuller ที่ได้ทำการวิเคราะห์สิทธิบัตรจำนวน 200,000 สิทธิ และระบุออกมาได้เป็น 40 รูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน Altshuller ได้ค้นพบว่าความสับสนทางวิศวกรรมมีจุดเริ่มต้นมาจากลำดับของตัวแปรแต่ละชนิดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 นักเรียนคนหนึ่งของ Altshuller ที่ชื่อว่า Ginadi Filkovsky ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศอิสราเอลและเข้าสอนที่มหาลัยเปิด Tel Viv โดย Filkovskyได้เริ่มสอน TRIZ และปรับประยุกต์ให้เข้ากับความต้องการของบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในประเทศอิสราเอล ต่อมานักศึกษาปริญญาเอก 2 คน ชื่อว่า Jacob Goldenberg และ Roni Horowitz ได้เข้าร่วมงานวิจัยของ Filkovsky ที่พยายามจะพัฒนาให้แนวปฏิบัติ TRIZ สามารถนำประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้เองที่เป็นพื้นฐานของหลักปฏิบัติแบบ SIT ในปัจจุบัน

The TRIZ Matrix (Photo credit: https://nesslabs.com/systematic-inventive-thinking-inside-the-box)

ประโยชน์ของการคิดในกรอบ

การคิดในกรอบอาจเป็นความรู้สึกที่ขัดแย้งจากความคิดเดิมของคนส่วนใหญ่ เพราะพวกเรามักถูกสอนมาให้คิดสร้างสรรค์อย่างนอกกรอบ แต่ทั้งนี้มีหลักที่ยืนยันได้ว่าเมื่อเราเข้าใจ “ข้อจำกัด (constraints)” อย่างถูกต้อง ข้อจำกัดสามารถช่วยผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ และการคิดในกรอบก็มีประโยชน์อยู่คือ

  • สนุก: การคิดในกรอบเปรียบเสมือนกับการเล่นเกมส์ปริศนาที่เราไม่สามารถขอยืมชิ้นส่วนจากภายนอกเกมส์ได้ แต่จำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยใช้ชิ้นส่วนเท่าที่มีภายในเกมส์เท่านั้น การมีข้อจำกัดสร้างความน่าสนใจตรงจุดที่ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะภายในขอบเขตของปัญหานั้นเท่านั้น
  • ทำให้จดจ่อได้มากขึ้น: การคิดในกรอบเป็นแนวการคิดที่ส่งเสริมให้ผู้คิดจดจ่ออยู่กับองค์ประกอบภายในกรอบของปัญหาเท่านั้น ทำให้ผู้คิดต้องมองทุกส่วนขององค์ประกอบอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
  • แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น: ในกระบวนการระดมความคิด (brainstorming) เพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ เมื่อจบกระบวนการ เรามักได้ไอเดียสร้างสรรค์มากมาย แต่ไอเดียนั้นมักที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขในมือ แต่การแกล้งจำกัดขอบเขตของความเป็นไปได้ จะช่วยให้เราหาวิธีแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น

เงื่อนไขของการใช้ SIT

  • จำกัดขอบเขตของสถานการณ์หรือปัญหา หรือการคิดในโลกปิด (Close world) — โดยใช้แนวการคิดในกรอบ (Think inside-box approach)โดยการกำหนดขอบเขตหรือจำนวนตัวแปรของสิ่งที่คิด เพื่อช่วยให้จดจ่อได้มากขึ้น เช่น ถ้าคิดถึงเรื่องการขายของออนไลน์ (E-commerce) ก็ตั้งกรอบและพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องนี้ หรือขอบเขตอาจจะเป็นภายในช่วงเวลาหรือพื้นที่รอบตัวในขณะนั้น เช่น ถ้ารถเกิดยางแตกอยู่ข้างทางแล้วต้องการแก้ปัญหา ก็ต้องวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ รอบตัว ณ ขณะนั้นว่าทรัพยากรใดที่จะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง
  • ประโยชน์ใช้สอยมาทีหลังรูปแบบ (Function follow form) — หลักการนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่าไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มักจะเกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้วมากกว่าเกิดจากความจำเป็นหรือความต้องการ ดังนั้นการเริ่มต้นคิดอย่างสร้างสรรค์จึงควรเริ่มจากการจินตนาการผลิตภัณฑ์ (virtual products) หรือการคิดถึงรูปแบบ (form) ตามเทคนิค 5 แบบที่จะกล่าวต่อไปแล้วจึงทดสอบว่าสามารถตอบโจทย์ความพึงพอใจหรือความจำเป็นของลูกค้า (function) ได้หรือไม่
ตะปูหัว 2 ชั้น อาจแปลกตาสำหรับบางคน และเป็นที่สงสัยว่าทำเพื่ออะไร หัวชั้นที่สองใช้ตอกปัก และหัวชั้นแรกจะเหลือไว้ใช้เวลางัดตะปูออก

วิธีคิดแบบนี้ช่วยสอนสมองเราให้ปรับการคิดใหม่ เพราะโดยทั่วไปคนเรามักจะยึดติดกับโครงสร้าง (Structural fixedness) ของสิ่งต่าง ๆ เราจะมีปัญหาเมื่อมีบางชิ้นส่วนหายไป หรือถูกย้ายไปอยู่ในที่ที่เรามองว่าผิดที่ผิดทาง นอกจากนี้เวลาเจอสินค้าหรือบริการรูปแบบแปลก ๆ คนส่วนใหญ่มักจะพยายามปรับให้มันเป็นเหมือนเดิมตามที่เคยเห็น แต่ในความจริง สิ่งที่เราควรทำคือการคิดถึงประโยชน์หรือข้อดีของสิ่งแปลกตาที่เห็นก่อน เช่น คิดว่าจะมีใครอยากได้มันไหม? ทำไมเค้าถึงอยากได้? และใช้ตอนไหน?

ลำโพงขยายเสียงจากโทรศัพท์พร้อมที่ตั้ง DIY (Photo credit:https://www.muminthemadhouse.com/diy-phone-amplifier-and-stand/)

การยึดติดอีกแบบคือ การยึดติดเรื่องหน้าที่ (Functional fixedness) นั่นคือการมองเห็นวัตถุต่าง ๆ ตามหน้าที่ในแบบที่มันเป็นหรือใช้มันอย่างที่เคยใช้ แต่ถ้าคิดดีดี สิ่งที่เราเคยเห็นว่ามันมีหน้าที่ยังไง อาจมีประโยชน์มากกว่านั้นก็ได้นะคะ

5 เทคนิคในการสร้างรูปแบบตามแนวคิดของ SIT

ถ้าอยากแก้ไขหรือปรับปรุงให้สินค้า บริการ หรือกระบวนการที่มีให้แตกต่างอย่างมีนวัตกรรม เริ่มต้นลองนึกถึง 5 เทคนิคนี้ก่อน..

1. Subtraction: การลบออก / ลดทอน

เทคนิคนี้เป็นการลบองค์ประกอบที่จำเป็นออกจากสินค้าหรือบริการหนึ่ง และลองจินตนาการถึงภาพใหม่ของสินค้าหรือบริการนั้นภายใต้องค์ประกอบที่ยังเหลือ

หลักการคิดของเทคนิคนี้ คือ

  • แจกแจงองค์ประกอบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องการออกมา
  • เลือกองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง แล้วลองจินตนาการว่าลบมันออกไป โดยอาจลบออกไปทั้งหมด หรือลบออกบางส่วน โดยการกำจัดคุณลักษณะหรือหน้าที่บางอย่างขององค์ประกอบนั้นให้ลดลงก็ได้
  • นึกภาพองค์ประกอบที่เหลือในหัว (ไม่ว่ามันจะพิสดารแค่ไหน) และถามตัวเองว่าประโยชน์ ตลาด และคุณค่าของสินค้าใหม่ (virtual product) นี้คืออะไร? จะมีใครอยากได้ไหม๊? ทำไมถึงเค้าถึงอยากได้? องค์ประกอบที่เหลือจะช่วยแก้ปัญหาในแง่มุมไหนได้บ้าง?

เงื่อนไขของการใช้เทคนิคนี้

  • ในการเลือกองค์ประกอบที่จะกำจัด ต้องเป็นสิ่งที่เคยถูกมองว่ามีความจำเป็นหรือสำคัญถึงขั้นที่ถ้าไม่มีมันผลิตภัณฑ์จะไม่สามารถทำงานได้
  • องค์ประกอบที่ถูกลบออกไปต้องเป็นองค์ประกอบภายในซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา
  • ถ้าต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทนองค์ประกอบที่ถูกกำจัดออกไป มีกฎ 2 ข้อ คือ เอาสิ่งที่เหมือนเป๊ะกับที่เอาออกไปมาใส่แทนไม่ได้ และสิ่งที่ทดแทนต้องอยู่ใกล้มือหรืออยู่ภายในกรอบของโลกปิด (close world) การทำแบบนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีความเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ และเรียบง่าย (เพราะความเรียบง่ายคือความซับซ้อนขั้นสูงสุด)

ตัวอย่างของเทคนิคนี้

Amazon go

Photo Credit:https://www.moneybuffalo.in.th/business/amazon-go-%E0%B8%8B%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%95

แทนที่จะปิดร้าน brick-and-mortar ทั้งหมดแล้วมุ่งขายออนไลน์อย่างเดียว อเมซอนกลับเลือกใช้การตัดองค์ประกอบที่สำคัญอย่างกระบวนการจ่ายสินค้า (checkout line) โดยการเปิด Amazon Go เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่ยังต้องการเดินมาจับจ่ายซื้อของเอง แต่ไม่อยากเสียเวลาเข้าคิวจ่ายค่าสินค้า

Air Asia

Photo Credit:https://www.businesstraveller.com/business-travel/2019/02/08/airasia-x-launching-bangkok-brisbane-flights-in-june/

อาหารเที่ยวบินและที่นั่งที่สะดวกสบายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นต่อผู้โดยสารตลอดมา จนกระทั่งเกิดสายการบินราคาประหยัดอย่าง Air asia ที่ยอมตัดองค์ประกอบนี้ออกจากราคาตั๋วโดยสารและเปลี่ยนเป็นการขายอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการแทน เพื่อการลดราคาตั๋วโดยสารให้ถูกลงทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น

2. Multiplication: การเพิ่มจำนวน / ทำซ้ำ (ให้ดีขึ้น)

เทคนิคนี้เป็นการเพิ่มองค์ประกอบที่จำเป็นเข้าไปในสินค้าหรือบริการหนึ่ง และลองจินตนาการถึงภาพใหม่ของสินค้าหรือบริการใหม่นั้น

หลักการคิดของเทคนิคนี้ คือ

  • แจกแจงองค์ประกอบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องการออกมา
  • เลือกองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง แล้วเพิ่มจำนวนมันดูในขอบเขตของโลกปิด (ไม่มีข้อจำกัดว่าควรเพิ่มเป็นเท่าไหร่)
  • ระบุคุณลักษณะขององค์ประกอบนั้นออกมา โดยคุณลักษณะหมายถึงแง่มุมต่าง ๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น สี ตำแหน่งที่ตั้ง รูปแบบ อุณหภูมิ เป็นต้น
  • ปรับเปลี่ยนคุณลักษณะอย่างหนึ่งของตัวคัดลอก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์ประกอบนั้น
  • นึกภาพรูปโฉมของผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่นั้น และถามตัวเองว่าประโยชน์, ตลาดและคุณค่าของสินค้าใหม่นี้คืออะไร? จะมีใครอยากได้ไหม? ทำไมเค้าถึงอยากได้? องค์ประกอบที่เพิ่มจะช่วยแก้ปัญหาในแง่มุมไหนได้บ้าง?
  • หากสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่มีคุณค่าจริง ๆ ถามตัวเองว่ามันเป็นไปได้จริงหรือไม่? สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นได้ไหม? ทำไม? มีทางไหนจะเกลาไอเดียนี้ให้ดีขึ้นหรือไม่?

ตัวอย่างของเทคนิคนี้

Gillette TRAC II

Photo Credit:https://www.walmart.ca/en/ip/gillette-trac-ii-plus-razor-blade-refills/6000070415852

มีดโกนหนวด 2 ใบมีด รุ่น TRAC II ของบริษัท Gillette ที่เปิดตัวใน ค.ศ.1971 เป็นการปฏิวัติวงการมีดโกนหนวดในสมัยนั้น โดยใช้เทคนิคการเพิ่มจำนวนใบมีดเป็น 2 ใบ ใบแรกช่วยในการดึงหนวดขึ้นมา ในขณะใบที่สองทำหน้าที่ในการตัดหนวด เพียงปรับการวางมุมเอียงของใบมีดใบที่สองให้ต่างไปจากเดิมเล็กน้อย ชาวโลกก็ได้นวัตกรรมใหม่แล้ว

iPhone Pro Model

Photo Credit:https://techcrunch.com/2019/09/10/why-does-the-new-iphone-11-pro-have-3-cameras/

บริษัทแอปเปิ้ลได้เพิ่มกล้องตัวที่สามเข้าไปใน iPhone 11 โมเดล Pro เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถ่ายภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยกล้องตัวที่ 3 นี้คือกล้อง Ultra wide view ที่ปรับการการมองแบบ landscape ได้กว้างมากยิ่งขึ้น และเมื่อทำงานร่วมกับกล้องเดิมที่เป็นการมองระยะไกล Telephoto จะช่วยเรื่องการถ่ายภาพโหมด Portrait และภาพหน้าชัดหลังเบลอได้

3. Division: การแยกส่วน

เทคนิคนี้เป็นการแบ่งสินค้าหรือบริการออกเป็นส่วน ๆ แล้วนำมาประกอบรวมกันให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ทำให้สร้างผลลัพธ์หรือคุณค่าที่เปลี่ยนไปจากเดิม หรือได้ช่องทางใหม่ในขณะที่ยังมอบคุณค่าเหมือนเดิม เทคนิคนี้สามารถใช้ได้ใน 3 รูปแบบ คือ

3.1 การแยกหน้าที่ (Functional division) คือ การดึงเอาความสามารถของผลิตภัณฑ์บางส่วนไปไว้ที่อื่น เช่น การแยกพัดลม มอเตอร์ และชิ้นส่วนไม่จำเป็นออกจากเครื่องปรับอากาศ ทำให้ปัจจุบันแยกองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นของเครื่องปรับอากาศออกไปไว้นอกอาคาร ทำให้เราไม่ต้องทนกับเสียงดังและความร้อนจากมอเตอร์อีกต่อไป

คอมเพสเซอร์ทำความเย็นในปี ค.ศ.1922 ที่รวมเอาชิ้นส่วนทุกอย่างรวมอยู่ในเครื่องเดียว (Photo Credit:https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/unexpected-history-air-conditioner-180972108/
คอมเพลสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบันถูกแยกออกมาไว้นอกอาคาร (Photo Credit:https://www.123rf.com/photo_64559777_air-conditioner-compressor-unit-installed-outdoor-in-the-old-building.html)
Photo Credit: https://gajitz.com/transforming-flat-pack-mouse-lives-in-your-laptop-cd-drive/

แยกหน้าที่การเล่นแผ่นซีดีออกจากโน๊ตบุ๊คโดยการนำไดร์ฟซีดีแยกออกมา แล้วค่อยนำมาต่อภายหลังเมื่อจำเป็นต้องใช้ ช่วยลดน้ำหนักและลดขนาดของเครื่องให้เล็กลง

3.2 การแยกชิ้นส่วน (Physical division) คือ การแยกองค์ประกอบทางกายภาพของสินค้าออกมาเป็นส่วน ๆ โดยไม่ต้องมีแบบแผนอะไร แล้วจัดเรียงใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ใหม่ เช่น การตัดภาพเขียนหรือภายถ่ายออกจากกันธรรมดา ๆ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและฝึกทักษะด้านการสังเกตให้กับคนต่อได้

จิ๊กซอ (Photo Credit: https://www.toynk.com/products/harry-potter-hogwarts-1000-piece-jigsaw-puzzle)

3.3 การซอยย่อย (Preserving division) คือ การลดทอนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เกิดประโยชน์ใหม่ เช่น การขนาดเอกสารดิจิตอลที่ต้องเคลื่อนย้ายไปมาในแล็ปท็อปให้เล็กลงโดยการแปลงให้เป็น Flash drive ที่ช่วยทำให้การพกพาข้อมูลไปที่ต่าง ๆ ทำได้สะดวกขึ้นมาก

Flash drive (Photo Credit:https://elie.net/blog/security/what-are-malicious-usb-keys-and-how-to-create-a-realistic-one/)
Photo Credit: Rent.com

นอกจากนี้การซอยย่อยยังมักถูกนำไปใช้ในธุรกิจที่จับต้องไม่ได้อย่างธุรกิจบริการและกระบวนการต่าง ๆ เช่น ในธุรกิจบริการอย่างการแบ่งกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโรงแรมหรือคอนโดตามช่วงเวลา ที่ความเป็นเจ้าของสถานที่จะถูกแบ่งย่อยให้กับผู้ที่สนใจ เช่น อาจจะแบ่งเป็นรายสัปดาห์หรือรายวัน ทำให้ได้ประโยชน์ใหม่คือ ผู้ที่ต้องการใช้หรือเป็นเจ้าของโรงแรมหรือคอนโดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็สามารถทำได้

หรือตัวอย่างการซอยย่อยแล้วเกิดประโยชน์ใหม่สำหรับกระบวนการก็อย่างเช่น กระบวนการเลือก, ใช้งาน ตลอดจนการจ่ายบิลค่าโทรศัพท์ โดยทั่วไปขั้นตอนจะเรียงกันดังนี้

ขั้นที่ 1: เลือกผู้ให้บริการ
ขั้นที่ 2: กรอกแบบฟอร์มสมัครใช้งาน
ขั้นที่ 3: ใช้งาน
ขั้นที่ 4: ได้รับบิลแจ้งค่าบริการ (ตอนสิ้นเดือน)
ขั้นที่ 5: ชำระค่าบริการ
ขั้นที่ 6: เริ่มวงจรใหม่ ที่ขั้นที่ 3 อีกครั้ง (ในรอบเดือนถัดไป)

ทีนี้ถ้าลองลดและสลับขั้นตอน โดยการดึงขั้นที่ 5 ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยการใช้งาน

ขั้นที่ 1: ชำระค่าบริการ
ขั้นที่ 2: ใช้งาน

Photo Credit:https://www.pinterest.com/pin/441563938467261365/

สิ่งที่ได้คือบริการใหม่อย่างบริการจำหน่ายบัตรเติมเงินสำหรับมือถือ ซึ่งตอบสนองกลุ่มคนที่ต้องการใช้มือถือเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้สร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมนี้ได้เจ้าแรกในช่วงทศวรรษที่ 1990

หลักการคิดของเทคนิคนี้ คือ

  • แจกแจงองค์ประกอบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องการออกมา
  • แบ่งสินค้าหรือบริการออกตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง: แยกหน้าที่, แยกชิ้นส่วน หรือซอยย่อย
  • นึกภาพโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่นั้น แล้วถามตัวเองว่าประโยชน์, ตลาด และคุณค่าของสินค้าใหม่นี้คืออะไร? มีใครอยากได้ไหม? ทำไมเค้าถึงอยากได้? องค์ประกอบที่เหลือจะช่วยแก้ปัญหาในแง่มุมไหนได้บ้าง?
  • หากสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่มีคุณค่าจริง ๆ ถามตัวเองว่ามันเป็นไปได้จริงหรือไม่? สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นได้ไหม? ทำไม? มีทางไหนจะเกลาไอเดียนี้ให้ดีขึ้นหรือไม่?

เทคนิคนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้หลายสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบที่มีความซับซ้อนหรือมีองค์ประกอบมากมาย ตั้งแต่การปรับสายการผลิต จนกระทั่งการคัดเลือกพนักงาน เทคนิคนี้ช่วยทลายการยึดติดเชิงโครงสร้าง (Structural fixedness) กุญแจสำคัญคือการเลือกรูปแบบการแบ่งทั้ง 3 รูปแบบอย่างเป็นระบบ และการแบ่งปัญหาให้อยู่ในขนาดให้พอเหมาะ

4. Task unification: การรวมหน้าที่

เทคนิคนี้เป็นการเพิ่มหน้าที่ให้กับองค์ประกอบ (หรือทรัพยากร) ของผลิตภัณฑ์, บริการ หรือกระบวนการใด ๆ โดยจะเป็นองค์ประกอบภายในหรือภายนอกก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบของขอบเขต (close world) ที่กำหนด เทคนิคนี้สามารถใช้ได้ใน 3 รูปแบบ คือ

4.1 การยืมมือคนอื่น คือ การยกเอางานที่เคยเป็นขององค์ประกอบภายในไปให้องค์ประกอบภายนอกทำแทน เช่น

Photo Credit: https://www.history.com/news/iphone-original-size-invention-steve-jobs

การมีแอปพลิเคชั่นบนไอโฟนทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์จากทั่วโลกสามารถสรรสร้างแอปพลิเคชั่นใดก็ได้อย่างเปิดกว้าง ความโด่งดังของไอโฟนจนเรียกว่าเป็นการปฏิวัติหลายอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเกิดจากการการที่แอปเปิลยกเอางานพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เคยเป็นหน้าที่ของคนภายในบริษัทหรือบริษัทคู่ค้ากับแอปเปิ้ลเท่านั้นไปให้ผู้คนนอกบริษัททำแทน

การฝึกอบรมพนักงานโดยใช้ลูกค้าของบริษัท Johnson & Johnson (Photo Credit: https://jnjinstitute.com/en-us/news/johnson-johnson-institute-india-delivers-hybrid-learning-experience-advance-surgical-education-challenging-times

หรือการที่ฝ่ายฝึกอบรมพนักงานของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ประสบปัญหาในการฝึกอบรมพนักงานฝ่ายขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้รู้จักสินค้าไม่ทันกับปริมาณผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท ยิ่งพนักงานใช้เวลาอบรมนานก็เท่ากับการเสียเวลาในการขาย หลังจากพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดของการอบรมด้านการขายแล้ว ฝ่ายฝึกอบรมตัดสินใจปรับแผนการอบรมใหม่โดยทดลองนำองค์ประกอบภายนอกอย่างลูกค้า (ซึ่งก็คือแพทย์ผ่าตัดจริง) มาช่วยอบรมพนักงาน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือนอกจากระยะเวลาการอบรมที่ลดลง และพนักงานขายได้รับความรู้ใหม่จากผู้มีประสบการณ์การใช้งานสินค้าโดยตรง และความรู้ทางการแพทย์อื่น ๆ ที่หาที่อื่นไม่ได้อีกด้วย

4.2 การใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า คือ การกำหนดภารกิจใหม่เพิ่มเติมให้กับองค์ประกอบภายใน เนื่องจากมีข้อจำกัดในการนำองค์ประกอบภายนอกมาใช้ ตัวอย่างเช่น

Playpump (Photo Credit: https://www.globalgiving.org/projects/water-in-africa-3/)

การสร้างเครื่องสูบน้ำเครื่องเล่น (Playpump) ในพื้นที่ทุรกันดารในแอฟริกา เนื่องจากการนำน้ำอุปโภคบริโภคเข้ามาในพื้นที่ทำได้ยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายสูง เพียงการกำหนดหน้าที่ใหม่ให้กับคนในพื้นที่ที่มีเวลาว่างเยอะอย่างเด็ก ๆ ก็ทำให้คนในพื้นที่มีน้ำกินน้ำใช้ โดยทุกครั้งที่เครื่องเล่นหมุน น้ำก็จะถูกสูบขึ้นไปเก็บบนแท๊งก์เก็บด้านหลัง ในขณะเดียวกัน เด็ก ๆ ก็ยังคงมีความสนุกสนานได้เหมือนเดิม

4.3 จากภายนอกสู่ภายใน คือ การย้ายหน้าที่ที่เคยเป็นขององค์ประกอบภายในไปให้องค์ประกอบภายนอกทำแทน เช่น

Tales of thing project (Photo Credit: https://storiesfromthemuseumfloor.wordpress.com/2019/08/02/my-time-with-ancient-objects/)

โครงการ Tale of Things ที่เป็นการแปะคิวอาร์โค้ดเข้าไปในสิ่งของทุกอย่างเพื่อเป็นสื่อในการบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของสิ่งของชิ้นนั้น ทำให้ผู้ที่รับของต่อมาหรือเยาวชนรุ่นหลังได้เข้าใจประวัติหรือรู้คุณค่าของสิ่งของชิ้นนั้น การทำแบบนี้เป็นการนำหน้าที่ที่เคยเป็นของบรรพบุรุษในอดีตซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอก มาใส่ไว้ในองค์ประกอบภายในอย่างสิ่งของ

การติดป้ายคิวอาร์โค้ดไว้ที่สินค้ามือสองเพื่อให้ผู้ที่ซื้อต่อรู้ประวัติความเป็นมาของของสิ่งนั้น (Photo Credit:http://downloads.bbc.co.uk/rd/pubs/conferences/internet_of_things_2013/Tales_of_Things.pdf)

หลักการคิดของเทคนิคนี้ คือ

  • แจกแจงองค์ประกอบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องการออกมา
  • เลือกองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งออกมาแล้ว กำหนดหน้าที่ใหม่ให้โดยเลือกจาก 1 ใน 3 รูปแบบนี้: การยืมมือคนอื่น,ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า และจากภายนอกสู่ภายใน
  • นึกภาพโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่นั้น ถามตัวเองว่าประโยชน์, ตลาด และคุณค่าของสินค้าใหม่นี้คืออะไร? จะมีใครอยากได้ไหม? ทำไมเค้าถึงอยากได้? องค์ประกอบที่เปลี่ยนไปจะช่วยแก้ปัญหาในแง่มุมไหนได้บ้าง?
  • หากสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่มีคุณค่าจริง ๆ ถามตัวเองว่า เป็นไปได้จริงหรือไม่? สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นได้ไหม? ทำไม? มีทางไหนจะเกลาไอเดียนี้ให้ดีขึ้นหรือไม่?

5. Attribution dependency change: การเชื่อมโยง

เทคนิคนี้เป็นการนำคุณลักษณะ 2 อย่างที่ก่อนหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน “ในแบบที่มีความหมาย (ทั้งในด้านบวกและลบ)” การปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงของคุณลักษณะ (หรือตัวแปร) ภายในขอบเขตโลกปิดจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แปลกใหม่ เช่น

ถ้าเอาคุณลักษณะ ”ราคา (Price)” ของผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นไปเชื่อมโยงกับคุณลักษณะอื่น เช่น

  • “ราคา (Price)” เปลี่ยนไปเมื่อ “อายุของลูกค้า (Age)” เปลี่ยน จะทำให้ได้
    “การลดราคาสำหรับผู้สูงอายุ
  • ราคา (Price)” เปลี่ยนไปเมื่อ “ปริมาณการซื้อ (Quantity)” เปลี่ยน จะทำให้ได้ “การลดราคาเพราะซื้อปริมาณมากขึ้น”
  • “ราคา (Price)” เปลี่ยนไปเมื่อ “ความเสี่ยง (Risk)” เปลี่ยน จะทำให้ได้
    “สินค้าประกันภัยหรือการรับประกันแบบใหม่”
  • “ราคา (Price)” เปลี่ยนไปเมื่อ “เวลา (Time)” เปลี่ยน จะทำให้ได้
    “แคมเปญการลดราคาตามช่วงเวลา (Happy Hours)”
  • “ราคา (Price)” เปลี่ยนไปเมื่อ “ความจำเป็น/ความต้องการ (Need) ของลูกค้า” เปลี่ยน จะทำให้ได้ “ราคาสินค้าหรือบริการที่ปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล” แต่มักจะทำให้ลูกค้าไม่พอใจ และมักจะมีประเด็นเรื่องความไม่ยุติธรรม เช่น การคิดราคาตั๋วโดยสารตามน้ำหนักของผู้โดยสารของสายการบิน Air Somoa

หลักการคิดของเทคนิคนี้ คือ

  • แจกแจงตัวแปร (ในที่นี้คือ คุณลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ของผลิตภัณฑ์หรือบริการ) ออกมา
  • เขียนตัวแปรเหล่านั้นลงในหัวข้อของตารางทั้งแนวตั้งและแนวนอน
  • สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรเหล่านั้นในตลาดปัจจุบันแล้วบันทึกลงตาราง
  • นึกภาพการเชื่อมโยงใหม่ที่สร้างขึ้นมา และตั้งคำถามว่าประโยชน์, ตลาด และคุณค่าของมันคืออะไร? ใครจะอยากได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนี้? ทำไมเค้าถึงอยากได้? การเชื่อมโยงใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร?
  • หากสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่มีคุณค่าจริง ๆ ถามตัวเองว่ามันเป็นไปได้จริงหรือไม่? สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นได้ไหม? ทำไม? มีทางไหนจะเกลาไอเดียนี้ให้ดีขึ้นหรือไม่?

เทคนิคนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อนกว่าเทคนิคอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกนำไปใช้บ่อยด้วยเช่นกัน

ในชีวิตจริง การแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำกันอยู่เป็นประจำ และบางทีการมีข้อจำกัดก็มีข้อดีของมัน…

เพราะมีข้อจำกัด…ทำให้เลือกอะไรไม่ได้มากนัก

เพราะมีข้อจำกัด…ทำให้จำเป็นต้องจดจ่อกับสิ่งที่มี สิ่งที่ทำ

เพราะมีข้อจำกัด…ทำให้ต้องคิดมากขึ้น เพราะต้องดิ้นรนภายใต้บริบทและทรัพยากรที่มี

ในหลาย ๆ กรณี เราก็พบผู้ที่ประสบความสำเร็จที่เกิดจากการที่เค้ามีข้อจำกัด

ก่อนจาก พอดีไปเจอคลิปบนยูทูปที่พี่ตี๋เคยไปพูดที่ TED TALK ที่ได้น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมค่ะ

การสร้างนวัตกรรมคือการแก้ปัญหา ซึ่งจะยากถ้าเราไม่รู้วิธี การแก้ปัญหาโดยทั่วไปคือ การทำให้ถูกลง, เร็วขึ้น หรือสร้างประโยชน์เพิ่มเติม ในการแข่งขัน ผู้ชนะคือ ผู้ทำได้เรียบง่ายกว่า ซับซ้อนน้อยกว่า และยั่งยืนกว่า

“ในการสร้างนวัตกรรม สิ่งสำคัญคือ “การได้ลงมือทดลองทำ แล้วได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ โดยรู้จักการใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบ ๆ ตัว”

ถ้าอยากรู้รายละเอียด สามารถหาอ่านจากหนังสือสองเล่มนี้นะคะ ขอบคุณค่ะ​ :)

หนังสือเวอร์ชั่นอังกฤษ — INSIDE THE BOX & หนังสือเวอร์ชั่นไทย — คิดนอกกรอบ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

European Interest Group on Creativity and Innovation. (2017,December,6).Systematic Inventive Thinking. Retrieved from https://www.creativity-innovation.eu/systematic-inventive-thinking/

Boyd(D)& Goldenberg(J).(2013).Inside the box.Welearn

Lecunff,Anne.().Systematic inventive thinking: the power of thinking inside the box. Retrieved from https://nesslabs.com/systematic-inventive-thinking-inside-the-box

Team Dan Lok.().Systematic Inventive Thinking: How to facilitate Rapid Cycles of Idea Generation & Solve Complex Problems. Retrieved from https://danlok.com/systematic-inventive-thinking-how-to-facilitate-rapid-cycles-of-idea-generation-and-solve-complex-problems/

Coldeway,Devin.(2019,September,11).Why does the new iPhone 11 Pro have 3 cameras?. Retrieved from https://techcrunch.com/2019/09/10/why-does-the-new-iphone-11-pro-have-3-cameras/

Goldenberg, Jacob & Horowitz, Roni& Levav, Amnon & Mazursky, David.(2003,March).Finding Your Innovation Sweet Spot. Retrieved from https://hbr.org/2003/03/finding-your-innovation-sweet-spot

Roy,Taylor.(2020,July,13).Design Thinking:Origins.Retrieved from https://uxdesign.cc/design-thinking-origins-4f03da8fbd0c

Boyd,Drew.(2013,April,19).Innovation Sighting-The Attribute Dependency Technique in Pricing.Retrieved from https://www.disruptorleague.com/blog/2013/04/09/innovation-sighting-the-attribute-dependency-technique-in-pricing/

Hunter,Marnie.(2013,April,3).Pay-as-you-weigh airfares the ‘next step’.Retrieved from https://edition.cnn.com/2013/04/02/travel/samoa-air-fare-by-weight/index.html

--

--