แนะนำหนังสือ “The Great Remake”

Suthasinee Lieopairoj
Siam Chamnankit Family
2 min readAug 4, 2021

--

Image Credit:

The Great Remake เป็นหนังสือที่เขียนในมุมมองของนักเศรษฐศาตร์ที่เชี่ยวชาญด้านมหภาคอย่าง ดร. สันติธาร เสถียรไทย

ผู้เขียนเลือกเขียนเป็นภาษาไทย เพื่อต้องการสื่อสารถึงคนไทยโดยตรงเกี่ยวกับมุมมองในช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยจากหลายๆ ด้าน โดยชวนมองในแง่มุมต่าง ๆ และมองในหลากหลายระดับ รวมถึงนำเสนอสิ่งที่ควรทำในหลายระดับเช่นกัน ทั้งระดับประเทศ สังคม องค์กร และปัจเจก

ดร.สันติธาร เลือกใช้คำว่า “Remake” ซึ่งเป็นคำในวงการหนัง มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือ เพราะมองว่าสิ่งที่ควรทำในโลกอนาคต ไม่ใช่แค่การอัพเดทเพียงเทคโนโลยีเข้าไปในสิ่งที่อยู่เดิม (หรือศัพท์ในวงการหนังเรียกว่า “Re-Master”) เช่น การปรับจากออฟไลน์เป็นออนไลน หรือการทำแอพเท่านั้น เพราะนั่นคงไม่เพียงพอในโลกข้างหน้า

ในอีกฝั่งหนึ่ง เราก็ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่เรามี เราเป็น เช่น ความรู้ ประสบการณ์ในอดีตของเราได้ หรือเรียกว่า ไม่สามารถล้างทุกอย่างใหม่หมด (ที่เรียกว่า “Reset”) เพื่อเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่

Remake จึงเป็นการสร้างเวอร์ชั่นใหม่ของตัวเองให้ดีกว่าเดิม โดยการไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม ๆ หรือความสำเร็จในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในปัจจุบัน

The Great Remake แบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ

ตอนที่ I: Rethink — เป็นการทำความเข้าใจคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในด้านต่าง ๆ ที่ถูกเร่งเข้ามา กระตุ้นด้วยโรคระบาดอย่างโควิด และโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร

ตอนที่ II: Recovery — การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น

ตอนที่ III: Reimagine — การปรับยุทธศาตร์ใหม่เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

ตอนที่ IV: Remake — การเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมทักษะ เพื่อรับมือกับโลกในอนาคต

ในเล่มนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจ (ที่ควรต้องอ่านเอง) เยอะแยะเลยค่ะ ส่วนตัวชอบตรงที่การลงรายละเอียดในแต่ละส่วนที่น่าสนใจ รวมถึงการอธิบายเปรียบเทียบกับเรื่องรอบตัว ทำให้เข้าใจเรื่องยาก ๆ ได้ง่ายขึ้นเลยค่ะ

สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องโลกหลังโควิด (หรือโลกอนาคต) ว่าจะอารมณ์ประมาณไหน และอยากพอรู้ทิศทางเราควรคิด ควรทำ ควรเป็นอะไรบ้าง แนะนำเล่มนี้เลยค่ะ

สิ่งที่อยากบันทึกไว้จากการอ่านเล่มนี้

  • กระบวนการ ”ตั้งคำถาม” สำคัญกว่าการ “หาคำตอบ”
  • คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ ที่ถูกเร่งให้เร็วและแรงขึ้นโดยโควิด
    มี 6D:

D1: Debt (หนี้ท่วม)
D2: Divided (ความเหลี่ยมล้ำที่สูงขึ้น)
D3: Deglobalisation (ความเสี่อมถอยของโลกาภิวัฒน์ในรูปแบบเดิม)
D4: Divergence (การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียและตะวันตก)
D5: Digitalisation (การเข้าสู่โลกดิจิตอล)
D6: Degradation of environment (ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม)

  • Invention (ประดิษฐกรรม) คือ การสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกค้นพบครั้งแรก มักเป็นการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น
  • Innovation (นวัตกรรม) คือ การคิดค้นสิ่งใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น แต่อาจเป็นกระบวนการการทำงาน, การผลิต, การให้บริการ หรือ การขายของแบบใหม่
  • นวัตกรรม จะเป็นหัวใจของเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว คือ สิ่งที่ขับเคลื่อนผลิตภาพ (Productivity) ของแรงงาน แปลว่า เราสามารถทำอะไรได้มากขึ้นในปริมาณคนงานเท่าเดิม
  • การหา “จุดแข็งของตัวเอง (Strong point)” ผสมกับการวิ่งตาม “เทรนด์โลก (Global trend)” เป็นจุดที่น่าสนใจ ในยุคที่โลกาภิวัตน์เสื่อมถอย มิติการเดินทางข้ามพรมแดนลดลง ในมิติระดับประเทศ เช่น การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ, ท่องเที่ยวเชิงรักษ์โลก, การท่องเที่ยวแบบอยู่ยาว (Work from Thailand)
  • Soft Power คือ พลังในการดึงดูด โน้มน้าวความคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน โดยไม่ต้องบังคับหรือจ่ายเงิน เดิมทีใช้ในด้านการทูตแต่สมัยนี้ใช้ในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจด้วย
  • การสร้าง Digital Soft Power ที่นำไปสู่การสร้าง Digital Experience Economy (DEE) : เศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างประสบการณ์ คือ การขายประสบการณ์ ไม่ใช่สินค้า หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำผ่าน Content เช่น หนัง, ซีรี่ย์, วิดีโอสั้นๆ, เกมส์, คลาสออนไลน์
  • (5C) Soft Power ของไทยที่สำคัญ

1. Care: Health & Wellness, Spa, Medical hub
2. Culinary: Food security, Thai food art (Thai herb), Street food
3. Culture: Art, Sport, Entertainment, Fashion
4. Creativity: Creative problem solving, Design
5. Corridor: ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์, จุดยืนการต่างประเทศ และการเป็น “สะพานเชื่อม” เศรษฐกิจสำคัญระหว่างจีน อินเดีย อาเซียน

  • 5 ประเด็นที่น่าคำนึงถึง ไม่ว่าจะทำยุทธศาตร์แบบใด เปรียบได้กับ 5 ธาตุ
  1. ธาตุลม (อยู่รอบตัวเรา มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ และเป็นวัตถุดิบในทุกอย่าง) : ข้อมูล & องค์ความรู้ (Data & Insight) และเสียงของคนที่เราต้องรับฟัง ก่อให้เกิดการเปิดใจ รับฟัง สติ และปัญญา
  2. ธาตุดิน (ดิน = คนเปราะบาง ฐานราก ขาดทรัพยากรและโอกาส) : การลดความเหลี่ยมล้ำ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
  3. ธาตุน้ำ (น้ำ = สสารที่เปลี่ยนรูปได้ตามภาชนะที่บรรจุ) : การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง, Resilience, Growth mindset
  4. ธาตุไฟ (ไฟ = การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของตัวเอง โดยใช้คลื่นของความเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก ที่อาจต้องยอมรับความเสี่ยงบ้าง) : การดึงดูดคนเก่ง, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, การปรับปรุงสังคายนากฎระเบียบกติกาที่เป็นอุปสรรค, สร้างการแข่งขันเพื่อสร้างนวัตกรรม
  5. ธาตุไม้ (ไม้ = สิ่งแวดล้อม, การมองในระยะยาวเพื่อความยั่งยืนทั้งมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม) : ESG [Environment, Social, Governance]
  • หลัก 3 อยู่

1. อยู่รอด: ภาวะไม่ปกติ (Lock down) โจทย์ใหญ่ คือ “Survival”

2. อยู่เป็น: ภาวะไม่ปกติแบบใหม่ (New abnormal) โจทย์ใหญ่ คือ “Risk Management” — การรักษาสมดุลระหว่างการสาธารณสุข vs เศรษฐกิจ

3. อยู่ยืน: ภาวะปกติแบบใหม่ (New normal) โจทย์ใหญ่ คือ “Reimagine” — การจินตนาการโลกใหม่หลังโควิด เพื่อการปรับตัวในระยะยาวอย่างยั่งยืน

  • สิ่งที่ยากและสำคัญ คือ การหาจุดสมดุลระหว่างแต่ละธาตุ (5 ธาตุ) ในแต่ละเฟสช่วงเวลา (3 อยู่) และคำตอบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือการสร้าง “เข็มทิศ” ในแบบของตัวเอง เพื่อเป็นกรอบการเดินทางที่ช่วยเตือนว่าเรากำลังไปทิศทางไหน
  • คำตอบสุดท้ายอาจไม่มีอยู่จริง ในโลกหลังโควิด

--

--